สาระน่ารู้

 

  เมื่อรักต้องเลิก ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมจะทำยังไง !!!

 

   “ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง คือ ความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรักความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะ    ยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตายเป็นความผิด และการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่”

    นิยามความรักข้างต้นเป็นนิยามความรักที่งดงามจากคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๖๐๘๓/๒๕๔๖ ในคดี “นายเสริม สาครราษฎร์” ที่เคยเป็นข่าวดังในช่วงประมาณปี ๒๕๔๑ ซึ่งหลายๆ ท่านอาจได้เคยติดตามข่าวกัน

    เมื่อความรักสุกงอมหญิงและชายต่างตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา และจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่ต่อมาเมื่อไม่อาจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไปความรักจึงต้องจบลง บางคู่ตกลงกันได้ก็จากกันไปด้วยดี แต่บางคู่เลือกที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อยุติปัญหา สำหรับคู่ที่    ไม่อาจตกลงกันได้ หรือมีเหตุที่ไม่อาจที่จะใช้ชีวิต อยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป อีกฝ่ายจะทำเช่นไรได้บ้าง  

   หากไม่สามารถตกลงกันได้ หรือมีเหตุที่ไม่อาจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้จนต้องนำไปสู่การฟ้องหย่า เหตุที่เราจะสามารถนำมาอ้างในการฟ้องหย่า ได้นั้นมีอะไรบ้าง ในที่นี้จะขอเน้นในกรณี “เหตุจงใจละทิ้งร้าง” และ“สมัครใจแยกกันอยู่” เป็นหลัก เนื่องจากได้มีหลายท่านสอบถามมาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว สำหรับกรณีอื่นๆ จะนำเสนอแบ่งปันความรู้ให้แก่ท่านในโอกาสต่อไป 

    เหตุแห่งการฟ้องหย่า

            ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๖ ได้บัญญัติเกี่ยวกับเหตุฟ้องหย่าไว้โดยสรุปดังนี้

            โดยเหตุที่ สามีหรือภริยา

   (๑)   - อุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี

    - เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ

   (๒)   ประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก)    ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(ข)    ได้รับความดูถูกเกลียดชัง

(ค)    ได้รับความเสียหายเดือนร้อนเกินควร

  (๓)  - ทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ

   - หมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหรือบุพการีอีกฝ่าย

  (๔)   จงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายไปเกิน ๑ ปี

      (๔/๑)  สามีหรือภริยา ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้จำคุกเกิน ๑ ปี  โดยที่

            - อีกฝ่ายมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมให้กระทำความผิด หรือรู้เห็นเป็นใจ

            - การเป็นสามีหรือภริยาต่อไปจะทำให้อีกฝ่ายได้รับความเสียหรือเดือดร้อนเกินควร

  (๔/๒)  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ เกินกว่า ๓ ปี

            เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข

            แยกกันอยู่ตามคำสั่งศาล

  (๕)   ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา เกิน ๓ ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

  (๖)   - ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายตามสมควร

   - ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภรรยากันอย่างร้ายแรง จนทำให้อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินควร

  (๗)   วิกลจริตตลอดมาเกิน ๓ ปี ยากที่จะหายได้ และถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันต่อไปไม่ได้

  (๘)   ผิดทัณฑ์บนที่ทำไว้เป็นหนังสือเรื่องความประพฤติ

  (๙)   เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางรักษาให้หายได้

  (๑๐) มีสภาพแห่งกายที่ทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล

           พฤติการณ์ใดบ้างที่จะถือเป็นลักษณะของการจงใจละทิ้งร้าง หรือสมัครใจแยกกันอยู่ ทั้งสองกรณีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีแนวคำวินิจฉัยไว้   อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

กรณีจงใจละทิ้งร้าง

·       อีกฝ่ายแยกตัวไปพักตามลำพัง เนื่องจากทะเลาะกัน เป็นการจงใจละทิ้งร้าง

Ø  ารที่สามีแยกไปพักตามลำพังเนื่องจากสามีภริยาทะเลาะกันโดยมีสาเหตุเกิดแต่สามีเป็นสำคัญและภริยามิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับสามี   เป็นกรณีที่สามีจงใจทิ้งร้างภริยาไปฝ่ายเดียว มิใช่สามีภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๑๖ (๔/๒)      (แนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๐๕๙/๒๕๓๘)

·       อีกฝ่ายแยกตัวไปทำงานที่อื่น เนื่องจากทะเลาะกัน ไม่เป็นการจงใจละทิ้งร้าง

Øเหตุที่โจทก์จำเลยทะเลาะกันและอยู่ด้วยกันในบ้านหลังเดียวกันโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกันนั้น มิได้มีสาเหตุมาจากว่าโจทก์และจำเลยไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไปได้ แต่เป็นเพราะโจทก์โกรธจำเลยเพราะเข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับมารดาโจทก์ฉ้อโกงเอาบ้านและที่นาของโจทก์ไป      เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนหน้าเกิดเหตุโจทก์และจำเลยแม้จะอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็มีลักษณะแบบต่างคนต่างอยู่ต่างทำมาหากิน จึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจอยู่กินในลักษณะดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยพาบุตรคนโตไปกรุงเทพมหานคร เพื่อค้าขายเสื้อผ้าจึงเป็นเพียงการแยกตัวไปทำมาหากินเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์หรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๖ (๔) (๖)          (แนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๗/๒๕๔๕)

Øโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๕๑๘ ต่อมาปี ๒๕๓๒ ภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ตกต่ำอาชีพของโจทก์ไม่ค่อยดี โจทก์ติดต่อขอทำงานในประเทศไทยจึงปรึกษากับจำเลยว่าจะกลับประเทศไทย แต่จำเลยเห็นว่าอาชีพพยาบาลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาดีไม่ยอมกลับ ในปี ๒๕๓๔ โจทก์จึงกลับประเทศไทย โจทก์จึงเป็นฝ่ายแยกจากจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่ใช่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๖ (๔) โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย    (แนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๙๑/๒๕๓๙)

 

กรณีสมัครใจแยกกันอยู่

·       ต้องเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย  และ

·       เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขด้วย

Øโจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑๖ (๔) โดยอ้างว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจ   แยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา แม้โจทก์จะอ้างข้อตกลงแยกทางตามเอกสารท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่า     ตาม มาตรา ๑๕๑๖ (๔/๒) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลา ที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีก คือต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๕๑๖ (๔/๒)

โจทก์ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑๖ (๔)   (แนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๔๕/๒๕๕๒)

Øโจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่โจทก์จะกล่าวอ้างว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไม่ได้ จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ ครั้ง แม้จะเป็นความจริงดังที่โจทก์ฎีกา แต่เหตุเกิดก่อนฟ้องประมาณ ๑๔ ปี และ ๔ ปี ตามลำดับ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย คงอยู่กินด้วยกันตลอดมาแสดงว่าโจทก์ได้ให้อภัยจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าในข้อนี้ย่อมหมดไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๘   (แนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๐๒/๒๕๓๔)

พฤติการณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น ในการฟ้องดำเนินคดีนั้นจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบเป็นกรณีไป  สำหรับเหตุหย่ากรณีอื่นๆ นั้น จะรวบรวมนำเสนอในโอกาสต่อไป

 

หมายเหตุ:

v  สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่าย

v  การหย่าโดยความยินยอม ให้ตกลงกันเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ 

    ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

v  เมื่อหย่ากัน ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน (คนละครึ่ง)

v  เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง (ถึงแก่กรรม, หย่า, ศาลพิพากษาให้เพิกถอน) ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

   (คนละครึ่ง)

 

 

                                                                                                                                                             บัวบูชา